พืชผักในท้องถิ่นแต่ละภาค


พืชผักในท้องถิ่นแต่ละภาค

                                                             
                             
                          ความหมายพืชผักในท้องถิ่น  

          พืชผักพื้นบ้าน(Indigenous Plants) ในที่นี้หมายถึงพืชผักที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีชื่อตามท้องถิ่นนั้นๆ มีทั้งไม้ล้มลุก และไม้ยืนต้น มีลักษณะทั้งไม้เลื้อย ไม้ทรงพุ่ม และไม้ต้น เติบโตจากปัจจัยในธรรมชาติ ที่แวดล้อมอยู่และกระจายพันธุ์ด้วยสภาวะ ธรรมชาติในแต่ละฤดูกาล พบได้ในแห่งพื้นที่ต่างกันทั้งที่ราบลุ่ม ทุ่งนา ริมห้วยหนอง คลอง บึง ชายทะเล บริเวณป่าเขา เนินโคก บนควน ชาวบ้านในท้องถิ่นมี ประสบการณ์และเรียนรู้วิธีนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารและยาสมุนไพร ทั้งในส่วนของยอด ใบ ดอก ผล หน่อ  หัวเหง้า รากและลำต้น

พืชผักในท้องถิ่นแต่ละภาค มีดังนี้

1.ภาคเหนือ


    ภาคเหนืออุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ชาวเหนือมีการเรียนรู้การกินผักและอาหารอย่างหลากหลาย จึงเกิดแกงผักสารพัดชนิดขึ้นมา เช่น แกงผักรวมหรือแกงแค อาหารจากเห็ดต่างๆ ที่มีให้กินได้ตลอดทั้งปี จึงทำให้ชาวเหนือได้รับอาหารที่เป็นเส้นใยอย่างสม่ำเสมอ ผักมีประโยชน์ที่ชาวเหนือนิยมกิน เช่น ผักม้วนไก่หรือเชียงดา ผักเฮือด มะระขี้นกหรือบะห่อยขี้นก




ส้มป่อย
   ยอดอ่อนใส่แกงปลาให้มีรสเปรี้ยว ถ่ายเสมหะ ถ่ายระดูขาว ล้างเมือกมันในลำไส้ แก้บิด






สะแล
   ช่อดอกอ่อนปรุงเป็นแกงส้ม ใส่ปลาแห้ง หรือกระดูกหมู



โหระพา
   ยอดเป็นผักสด ใบ ใช้ปรุงอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร ขับลม ช่วยย่อย เจริญอาหาร แก้คลื่นไส้อาเจียน




กล้วยน้ำว้า
   หยวกกล้วย หัวปลี ผลดิบ เป็นผักที่มีทุกฤดูกาล ผลดิบรักษาแผลกระเพาะ ผลสุกช่วยระบาย ให้พลังงานสูง ปลีและหยวก แก้ร้อนใน



แมงลัก
   ใบใช้แต่งกลิ่นอาหาร แก้ท้องอืด ขับลม เมล็ดช่วยระบาย




กะเพรา
   ใบใช้แต่งกลิ่นอาหาร ดับคาว ทำให้ร้อนและขับลมได้ดี รสเผ็ดร้อน เป็นยาตั้งธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น จุกเสียดในท้อง




สันพร้าหอม
   ยอดเป็นผักสดกับลาบ แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง




คูน
   ก้านใบสดเป็นผักจิ้ม หรือใช้แกงส้ม แกงแค หัวใต้ดินแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้


มะอึก
   ผลใส่น้ำพริกกะปิ หรือแกงเผ็ด ให้รสเปรี้ยว ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ แก้ดีพิการ



มะรุม
   ยอดและดอกอ่อนเป็นผักจิ้ม หรือปรุงเป็นแกง ฝักอ่อนนิยมใช้แกง ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับปัสาสวะ


มะแว้งต้น
   ผลอ่อน ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ผล แก้ไอ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ลดน้ำตาลในเลือด


มะเขือพวง
   ผลอ่อนใส่แกง น้ำพริก หรือกินเป็นผักสด ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงเลือด มีธาตุเหล็ก


บวบเหลี่ยม
   ผลอ่อนนิยมใช้ผัดกับถั่วฝักยาวหรือผัดใส่ไข่ หรือใส่แกงแค บำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ



มะตูม
   ยอดอ่อน ใบอ่อน รับประทานเป็นผักสดกับลาบ ก้อย น้ำพริก ช่วยย่อย ขับลม เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ผลนำมาทำเครื่องดื่ม แก้กระหาย


เพกา
   ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด ส่วนดอกลวกเป็นผักจิ้ม ฝักอ่อนย่างไฟ รับประทานกับลาบหรือน้ำพริก เมล็ดใช้ต้มน้ำจับเลี้ยงแก้ร้อนใน


ขนุน
   ผลอ่อนใช้แกง รากแก้ท้องร่วง แก้ไข้ เมล็ดช่วยขับน้ำนม



มะระขี้นก
   ผลอ่อนและใบเป็นผักจิ้ม เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี บำรุงธาตุ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด



โหระพาช้าง
   ยอดเป็นผักสดกับลาบ ขับลม แก้ปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ



ชะพลู
   ใบอ่อน รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ห่อเมี่ยงคำ หรือใส่แกงแค แกงปลาแห้ง รสเผ็ด ช่วยขับเสมหะ แก้ธาตุพิการ บำรุงเลือดลม เจริญอาหาร




ผักกาดกวางตุ้ง 
กินเป็นผักสด หรือใช้แกง ต้นอ่อนนิยมทำส้าผัก



กระถินไทย
   ยอดกินสด จิ้มน้ำพริก หรือกินกับส้มตำ แก้ท้องร่วง ห้ามเลือด ขับระดูขาว


คันทรง
   ใบและยอดอ่อนลวกจิ้มน้ำพริก หรือแกงใส่ปลาแห้ง บำรุงร่างกาย



กระเจี๊ยบแดง
   ยอดอ่อน ผลอ่อนใส่แกงปลา ให้รสเปรี้ยวกลีบเลี้ยง กลีบรองดอกและ ใบมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยากัดเสมหะ และเป็นยาขับปัสสาวะ


พลูคาว
   ใบสดรับประทานเป็นผักจิ้ม ดับคาว ขับลมในกระเพาะ ภายนอกใช้ทาแก้กลากเกลื้อน


ตำลึง
   ยอดอ่อน ใบอ่อน กินเป็นผักสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก ใส่แกงแค ใบ ช่วยดับพิษร้อน ลดน้ำตาลในเลือด



ย่านาง
   ยอดอ่อนใส่แกงหน่อไม้ หรือคั้นน้ำจากใบใส่แกงหน่อไม้ ช่วยลด รสขมขื่น ราก แก้ไข้ทุกชนิด



ผักแต้ว
   ยอดอ่อนและช่อดอกอ่อนรับประทานเป็นผักได้ ป้องกันโรคตาบอดกลางคืนในเด็ก มีเบต้าแคโรทีนสูง


ผักปลัง
   ยอดอ่อนใช้แกงใส่แหนม รักษาอาการท้องผูก เป็นยาระบาย




ผักคราดหัวแหวน
   ยอดและดอกอ่อนใส่แกงแค แก้เลือดออกตามไรฟัน ปวดฟัน รำมะนาด แก้ปวดหัว โลหิตเป็นพิษ


บัวบก
   ใบรัประทานเป็นผักสด น้ำคั้นจากใบใช้เป็นเครื่องดื่ม แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงธาตุหัวใจ ขับปัสสาวะ ภายนอกใช้รักษาแผลสด



ชะอม
   ยอดและใบอ่อน รับประทานเป็นผักจิ้ม หรือปรุงเป็นแกง ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
กระทุงหมาบ้า ยอดอ่อน ลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ตำมะม่วง หรือแกงกับปลาแห้ง กระดูกหมู ดอกอ่อน นำมาแกงเลียง แกงแค

กระเจี๊ยบมอญ
   ผลอ่อนลวกจิ้มน้ำพริก รักษาโรคกระเพาะ คุมความดันโลหิต ช่วยระบาย



ขจร
   ยอดอ่อนและดอก ลวกหรือต้มรับประทานกับน้ำพริก ดอก ใช้ผัดน้ำมัน แกงหรือใส่ไข่เจียว ช่วยเจริญอาหาร



พญายอ

   ยอดอ่อนใส่แกงหน่อไม้ หรือแกงแค ภายนอกผสมกับสุราใช้รักษาโรคเริม หรืองูสวัด


2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)

อัญชัน  
    ต้น (เครือ) และดอกที่แสดงในรูป ปลูกไว้หน้าบ้านโดยทำโครงเสา (ภาษาบ้านผมเรียกค้าง) ให้มันเลื้อยไป ซึ่งปลูกไว้รวมกับถั่วพลู มันก็เลื้อยพันกันไป เราทราบกันดีว่านำดอกมาทำเป็นสีทำอาหาร (สีฟ้า) แต่ที่บ้านผมนำดอกสดๆ มากินกับน้ำพริก ป่น (ป่น คือ น้ำพริกที่ทำจากแหล่งโปรตีนชนิดต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เนื้อ หมู ไก่ เป็นต้น) รสชาดก็มันๆ ดีครับไม่ขมเลย



ผักกูด  
    ต้นนี้ปลูกทิ้งไว้ที่ข้างบ้าน หลายท่านคงรู้จักดีว่ากินได้ทั้งแบบสดๆ หรือทำให้สุกก็ได้ ไม่ว่าจะทำเป็นผักแนมของน้ำพริก /ลาบ ทำยำ ผัด ต้ม เป็นต้น


ชำมะเลียง  
   ที่บ้านเหลืออยู่ 2 ต้น เพิ่งออกดอก ภาษาบ้านผมเรียก  บักหวด ต้นนี้ กินได้ทั้งยอดอ่อนและผลของมัน ยอดอ่อนจะ
ทำเป็นผักแนมของน้ำพริก /ลาบ ส่วนผลเมื่อสุกแล้วจะมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจสีม่วงแก่ รสชาดหวานอมฝาดเล็กน้อย

 

ชะพลู  
   น่าจะเป็นผักที่หาได้ทั่วไป แต่จุดเด่นของภาพนี้คือดอกของมัน จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายดอกของดีปลี แต่น่าเสียดายที่บ้านไม่ได้ปลูกดีปลี

 

ท้อไข่  
    ผลไม้ชนิดนี้ผมไม่เคยเห็นแม่ค้าในเมืองหลวงนำมาขายเลยแต่ที่เมืองเลยหาได้ง่าย ลักษณะของมันคล้ายๆกับลูกพูดแต่ลูกพูดจะมีรสออกเปรี้ยวหวานปนขมเล็กน้อย ผลสุกของลูกท้อไข่นี้ มันจะมีเนื้อข้างในร่วนอ่อนนุ่มเหมือนกำมะหยี่ รสชาดหวานหอม ถ้ายังแก่ไม่เต็มที่จะมีรสฝาด


ใบหัวเสือ  
    รสและกลิ่นของผักชนิดนี้ดับคาวได้ดี จึงนิยมกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ป่น /ลาบ แต่สิ่งที่ผมแปลกใจก็คือมันมีกลิ่นเหมือนกับออริกาโน ที่ใส่พิซซ่ามาก 


 
ผักเม็ก  
     เป็นผักพื้นเมืองที่ค่อนข้างหาได้ง่าย  รสชาดมัน มีขมเปรี้ยวแซมนิดๆ

 

น้ำน้อย  
         พืชชนิดนี้มีประโยชน์มากสำหรับคุณแม่ผู้ให้นมบุตร ซึ่งเราจะนำกิ่งลำต้นของมันไปต้มแล้วนำมาให้ณแม่ผู้ให้นมบุตรดื่มเพื่อเร่งน้ำนมให้ออกมามากๆ ส่วนผลของมันที่เห็นในรูปก็กินได้ แต่ละลูกมีขนาดประมาณเท่ากับลูกมะแว้ง (ประมาณ 1 เซนติเมตร)  มีรสชาดหวานอมฝาด

 

ชะมวง  
      อันนี้เป็นพืชพื้นเมืองทางภาคตะวันออก ที่บ้านได้นำมาปลูกไว้ได้ 5-6 ปีแล้ว อาหารที่คุ้นหูคือแกงหมูใส่ใบชะมวง แต่ที่บ้านจะกินทั้งยอดแบบสดกับน้ำพริก กับลาบ และนำมาใส่ต้มยำ ไม่ว่าจะเป็นต้มปลา ต้มไก่ หรือต้มยำทะเล

 


ชงโค  
    ภาษาที่เมืองเลยเรียก ผักเสี้ยว นิยมนำยอดอ่อนมานึ่งกินกับน้ำพริก ป่น หรือนำมาแกงใส่ตะไคร้ กับปลาแห้ง หรือกุ้งหอย ปู ปลา แหล่งโปรตีนอื่นๆที่หาได้ (คล้ายแกงเลียง)

 

ส้มป่อย  
      ภาษาที่เมืองเลยเรียก ส้มปอน ลักษณะคล้ายกับชะอม แต่มีรสเปรี้ยว นิยมนำยอดอ่อนมาใส่ต้มยำไม่ว่าจะเป็นต้มปลา ต้มไก่ หรือต้มยำทะเล โดยเฉพาะต้มยำไก่ ส่วนใหญ่คนจะคุ้นเคยกับใบมะขามอ่อน แต่ที่บ้านผมจะนิยมใส่ ส้มปอน มากกว่า เนื่องจากใบมะขามอ่อนจะมีรสเปรียวกลมออกฝาด  แต่ ส้มปอน จะออกเปรี้ยวแหลม

 

ตาว  
     เป็นพืชตระกูลปาล์ม ปกติเราจะคุ้นเคยกับการกินลูกตาวเชื่อมที่มีลักษณะคล้ายกับลูกชิด แต่ที่บ้านผมนิยมนำยอดมาแกง ในลักษณะของต้มเปอะ (ใส่น้ำย่านางคั้น) รสชาดเหมือนแกงหน่อไม้อาจจะมีรสขมปนนิดๆ

 
มะอึก  
     จากที่เห็นในรูปเป็นลูกที่ยังไม่แก่ ลูกที่แก่แล้วจะมีสีเหลือง เวลาจะนำมากินก็จะขูดขนอออกให้หมดจนเลี่ยนเตียน นำใส่ใส่น้ำพริกกะปิ สัมตำ ยำต่างๆ เป็นต้น มีคนเอามะอึกไปเปรียบกับคนหัวล้าน ผมเข้าใจว่าเนื่องจากขนรอบผลของมันเมื่อแก่แล้วจะหลุดร่วงเป็นกระจุกคล้ายคนหัวล้าน


 

มันหำอี้มู้  
     ชื่ออาจจะดูว่าไม่สุภาพ จากลักษณะของมัน เป็นมันที่ออกมาจากเครือเถา ลูกไม่ใหญ่มาก ผิวเป็นขรุขระเป็นตะปุ่มตะปั่ม มีขนาดไม่เกิน5 เซนติเมตร คล้ายๆ กับมันลูกเห็บแต่มันลูกเห็บผิวจะเรียบกว่า

 

เพี้ยฟาน 
       ชื่อของมันมาจากกลิ่นและรสชาดที่คล้ายกับน้ำย่อยหญ้าอ่อนในไส้ของเก้ง (เพี้ย = ขี้อ่อนในไส้ของสัตว์กินพืช เช่น ช้าง ม้า วัว ความ เก้ง กวาง ,ฟาน = เก้ง) พืชชนิดนี้นิยมนำยอดอ่อนมากินกับลาบ/น้ำพริก ป่น



กะเพราแดง  
     จากการเดินตลาดในเมืองหลวง พบว่าไม่ค่อยมีกะเพราแดงขาย  ส่วนตัวผมเองชอบที่จะกินกะเพราแดงมากกว่าเพราะมีกลิ่นหอมกว่า


 

ผักคาว  
        ผักชนิดมีกลิ่นและรสคาวเหมือนคาวปลา เพียงแค่จับกลิ่นคาวก็ติดมือแล้ว นิยมนำมากินกับลาบ/น้ำพริก ป่น


กระเจี๊ยบขาว
      ลักษณะคล้ายกับกระเจี๊ยบเขียวที่พบได้ทั่วไปในตลาดเมืองหลวง ภาษาที่เมืองเลยเรียกว่า บักหม่นเหล่น นิยมนำมานึ่งกินกับน้ำพริก ป่น

ดาหลา 
         พืชตระกูลข่า มีดอกสีแดงสดดังรูป ตอนแรกปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ แต่ตอนหลังพบว่า หน่ออ่อนของมันก็กินได้ โดยนำมาแกงแบบต่างๆได้ และดอกของมันก็ใช้กินสดกับนำพริก ป่น ลาบ โดยเลือกใช้ดอกแก่ รสชาดอมเปรี้ยวเล็กน้อย



ย่านาง 
        พืชชนิดนี้น่าจะรู้จักกันดี ลักษณะต้นเป็นเถา ส่วนใหญ่จะนำใบมาคั้นกับน้ำเป็นน้ำสีเขียว เพื่อใส่ในต้มเปอะ เชื่อว่าน้ำย่านางจะไปลดความขื่น และสารกัดกร่อนในหน่อไม้ได้



ส้มกุ้ง 
     ใบเป็นยาง รสชาดเปรี้ยว มีกลิ่นคล้ายกุ้งสด นิยมนำมากินกับลาบ/น้ำพริก ป่น



มะตูมแขก  

    ใบมีกลิ่นหอม รสมัน นิยมนำมายอดกินกับลาบ/น้ำพริก ป่น





3.ภาคกลาง
ผักและสมุนไพรพื้นเมืองภาคกลาง




ควินิน

     หรือเรียกว่า "ขี้นิน ผักควินิน (ภาคอีสาน) คิวนิน (ภาคกลาง) สะเดาอินเดีย"
ใบอ่อนนำมาลวกเผาไฟ กินกับลาบ ป่น ก้อย แจ่ว ส้มตำ ทางยา ใบ แก่น ต้มใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ใบใช้เป็นยาฆ่าแมลง ใบต้มแก้โรคเบาหวาน



เทียนตาตั๊กแตน (ผักชีลาว)

หรือเรียกว่า "เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน(ภาคกลาง)ผักชี(ขอนแก่น เลย)
ผักชีตั๊กแตนผักชีเทียน(พิจิตร)ผักชีเมือง(น่าน)" แก้เส้นศูนย์กลางท้องพิการ แก้ชีพจรอ่อนหรือพิการ แก้นอนสะดุ้งผวา แก้เสมหะพิการ แก้กำเดา ทั้งต้น ผสมผักชีลาวทั้งต้น ต้มน้ำดื่มแก้หวัด ตำรายาไทยใช้ ผล บำรุงกำลัง ขับลม เส้นท้องพิการ แก้นอนสะดุ้ง คลุ้มคลั่ง





ผักอีฮีน
 หรือเรียกว่า ผักขาเขียด ผักขาเขียดเป็นไม้น้ำจำพวกผักตับ  มีลักษณะเหมือนผักตบไทยแต่มีขนาดเล็กกว่า ใบเรียวยาว เกิดตามที่มีน้ำขัง เป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบกอายุฤดูเดียว ชอบขึ้นในที่น้ำท่วมขังตื้น ๆ  ทางอาหาร  ดอกอ่อนและก้านใบรับประทานได้ ทางยา  ใบ  คั้นเอาน้ำดื่มแก้ไอ ขับปัสสาวะ ตำพอกฝี





ข่อย
  หรือเรียกว่า ส้มผ่อ (อีสาน) กักไม้ฝอย (เหนือ) สัมพอ (เลย) บรอย ขันตา (ใต้)
สะนาย (เขมร) ตองขะแหน (กาญจนบุรี) ใบและเปลือกตำผสมข้าวสารคั้นเอาน้ำดื่มครึ่งถ้วยชา ให้อาเจียนถอนพิษยาเบื่อ ยาเมาหรืออาหารแสลง ชงกับน้ำร้อนดื่มระบายท้อง แก้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน แก้ปวดเมื่อยบำรุงธาตุ ขับผายลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ







ผักเสี้ยน
    หรือเรียกว่า ผักส้มเสี้ยน (ภาคเหนือ) ผักเสี้ยนขาว (ภาคกลาง) ต้น ขับโลหิตระดูที่เน่าเสีย ใบ ตำพอกทาแก้ปวดเมื่อย เรียกเลือดมาเลี้ยงผิวหนัง น้ำคั้นจากใบมาผสมกับน้ำมันเป็นยาแก้ปวดหู หรือตำพอกฝีไม่ให้เป็นหนอง เมล็ด นำมาชงช่วยขับเสมหะขับพยาธิไส้เดือน


4.ภาคใต้

พืชผักที่ชาวใต้นิยมนำมาแกง ผัด ยำ และเป็นผักเหนาะ มีหลายชนิด ดังนี้



หน่อปุดหรือหยวกปุด
        หน่อปุดหรือหยวกปุด  เหมือนต้นข่า ลอกเปลือกนอกออก ใช้ไส้ในตัดเป็นท่อนๆ ขยำเกลือใส่แกง หรือต้มจิ้มน้ำพริก


  หยวกทือหรือหน่อทือ
       หยวกทือหรือหน่อทือ เป็นพืชล้มลุก ฤดูแล้งจะลงหัว ฤดูฝนจะงอกใหม่ ลอกเปลี่ยนนอกออกหั่นเป็นท่อนๆ ขยำกับเกลือ ใช้แกงกะทิ แกงส้ม หรือจิ้มน้ำพริก




หน่อข่า
      หน่อข่า ใช้เหง้าแก่สดแกง จิ้มน้ำพริก มีรสเผ็ดปร่า กินขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด หรือจะใช้หน่อข่าต้มกะทิ ก็เป็นที่นิยม



ส้มแขก
      ส้มแขก เป็นไม้ยืนต้น มีผลกลมคล้ายชะมวง นิยมใช้ลูกที่ยังเขียว (เกือบสุก) นำมาหั่นแล้วตากไว้ให้แง เก็บไว้ได้นาน ใช้ใส่แกง ยำ ต้ม ที่ต้องการรสเปรี้ยว ใส่ในอาหารได้ทุกชนิดหรือใช้ส้มแขกสดใส่แกงเป็นผักหรือนำมาผัด ยำ ก็เป็นที่นิยม



ขมิ้น
      ขมิ้น นิยมกินกันมากในภาคใต้ นิยมใส่อาหารหลายชนิดเพื่อดับกลิ่นคาว ใส่ให้มีสีสวยชวนกิน ให้เป็นส่วนประกอบในอาหารประจำวัน ที่นิยมกิน คือ แกงส้ม แกงเหลือง ใส่ขมิ้น มากจนแกงเหลืองไปทั้งหม้อ จึงเรียกแกงส้มภาคใต้ว่า แกงเหลือง นอกจากนั้นยังทำอาหารอื่นๆ เช่น ปลาต้มขมิ้น ไก่คลุกขมิ้นทอด ข้าวยำคลุก ซึ่งต้องใส่ขมิ้นทั้งหัวและใบ ฯลฯ ขมิ้นกินแก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แก้ฝีพุพอง อาการอักเสบและแมลงสัตว์กัดต่อย




 ชุมเห็ด
      ชุมเห็ด ขึ้นอยู่ทั่วไปในภาคใต้ ดอกและใบ (ยอด) ใช้ต้มกินเป็นผักเหาะ (ผักเหมือด) กับน้ำพริก ดอกและใบสดเป็นยาแก้ท้องผูก ใบนำมาตำทาแก้กลายเกลื้อนก็ได้


ตำลึง
      ตำลึง ขึ้นอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามริมรั้วหรือต้นไม้ทั่วไป ใช้แกงเลียง กินเป็นผักเหนาะทั้งต้มและสด ใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง ชาวบ้านส่วนมากจะเก็บเอาจากข้างบ้านไม่ต้องซื้อถ้าแมงสัตว์กัดต่อยใช้ใบสดคั้นน้ำพอกลงบนแผล ทำให้หายปวดแสบปวดร้อนและคัน นิยมกินเป็นประจำ



ตะไคร้
      ตะไคร้ นิยมกินกันมากในภาคใต้ ใช้ทำอาหารได้หลายชนิด อาหารหลายชนิดที่ปรุงด้วยตะไคร้ ใช้ปรุงเครื่องแกง ใส่พวกต้มต่างๆ ใช้ยำ งบ น้ำพริก ฯลฯ ตะไคร้ช่วยดับกลิ่นคาว ใช้ลำต้นแก่ทำอาหาร ทำให้อาหารรสดี กลิ่นหอม นอกจากนั้นยังช่วยขับลมในท้อง ช่วยไม่ให้ท้องอืด จุกเสียด และแก้โรคทางเดินปัสสาวะด้วย



ลุกแว้ง
      ลุกแว้ง คล้ายมะเขือแต่ลุกเล็กกว่ามีรสขมจัด ออกลุกเป็นช่อ นิยมใช้กินเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก จะลวกหรือกินสดก็ได้ ใช้เป็นยากัดเสมหะได้



บอนท่า
      บอนท่า ต้นบอนที่ขึ้นบริเวณริมคลอง ลำต้นขาวหรือสีดำ เอามาลอกเปลือกออกแล้วหั่นเป็นท่อนๆต้มแล้วเทน้ำทิ้ง นิยมนำมาแกงส้มมากกว่าแกงกะทิ



ลูกเนียง
      ลูกเนียง เป็นไม้ยืนต้น มีมากในภาคใต้ มี 2ชนิด ผลกลมกึ่งแบนเป็นพวงใช้เป็นผักเหนาะ หรือใช้แกงหรือใช้ต้มจิ้มมะพร้าวเป็นของว่าง รสคล้ายสะตออีกชนิดหนึ่งเป็นฝักมีเม็ดเล็กๆ เรียงกันอยู่ในฝัก เรียกว่า ลุกเนียงนก นิยมกินเป็นผักเหนาะ ส่วนลูกเนียงใหญ่ผลกลม ถ้าแก่เกินไปไม่นิยมกินสด แต่จะเอาไปเพาะในทรายไว้สัก 4-5 วัน เรียกว่า ลูกเนียงหมาน หรือลูกเนียงเพาะ ซึ่งจะกรอบและมีกลิ่นเหม็นกว่าลุกเนียงอ่อน



ยอดมวง
     ยอดมวง ไม้ยืนต้น ใบใช้ทำอาหาร ใส่แกงหรือต้มกับเนื้อสัตว์ รสเปรี้ยว เอามาทั้งยอดแล้วย่างไฟเล็กน้อย พอใบเฉาฉีกใบให้เล็กลงหรือจะหั่นฝอยก็ได้


  ลูกฉิ่ง
       ลูกฉิ่งลักษณะเหมือนมะเขือพวง เป็นช่อ มีสีเขียวอ่อน รสหอมอ่อนๆ ให้กินผักเหนาะ รสมัน ใช้ใส่แกง หรือยำกินก็ได้ นิยมให้กินกับขนมจีน





ส้มป่อย
      ส้มป่อย เป็นไม้เถายืนต้น ใบเป็นฝอยคล้ายชะอม ตามต้นและกิ่งก้านมีหนาม ใบมีรสเปรี้ยวจัด ดอกและฝักคล้ายกระถินเทศ ใช้ใส่แกงให้มีรสเปรี้ยว



สะตอ
      สะตอ เป็นไม้ยืนต้นใหญ่ ออกฝักเป็นช่อๆ ฝักยาว มีเม็ดเรียงกันเป็นแถวในฝัก มี 2 ชนิด คือ เม็ดใหญ่ มีรสเผ็ดเล็กน้อย กลิ่นเหม็นจัด เรียกว่า ตอดาน ส่วนอีกชนิดหนึ่งเม็ดเล็ก กลิ่นไม่จัด รสหวานเล็กน้อย เรียกว่า ตอข้าว ใช้แกง ผัด ยำ หรือนิยมกินเป็นผักเหาะทั้งสดและเผา กินกับแกง น้ำพริกหรือเหมือดขนมจีน



กระถิน
      กระถิน ใช้ยอดและฝักอ่อนฝักแก่กินเป็นเหนาะหรือใส่ในข้าวยำคลุก หรือข้าวยำน้ำเคย



ยอดมะม่วงหิมพานต์

      ยอดมะม่วงหิมพานต์ ใช้กินเป็นผักเหนาะหรือยำ



ยอดมะกอด
     ยอดมะกอด ใช้ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวกินเป็นผักเหาะกับแกง น้ำพริกและขนมจีน



ผัดกาดนกเขา

     ผัดกาดนกเขา ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน เป็นพืชล้มลุกไม่ใช้ ไม้เถา ต้นสูงประมาณ 1คืบ ใช้กินใบ มีรสหอม เผ็ดเล็กน้อย ดอกสีม่วงเล็กๆ ใช้เป็นผักเหนาะหรือแกงเลียง เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบเรียวเล็กมีกลิ่นหอม ใช้กินเป็นผักเหนาะ



เห็ดแครง

         เห็ดแครง ขึ้นตามไม้ยางที่ตัดมาทิ้งไว้ เห็ดแครงจะขึ้นเต็มไปหมด ดอกเห็นสีน้ำตาลเป็นกระจุกนิยมใช้แกงกะทิกุ้ง ทำเป็นงบเห็ดแครง



หยวกกล้วย
      หยวกกล้วย ลอกเปลืยอดอกต้นกลัวยออกจนเหลือไส้กลาง ใช้แกงกะทิ แกงส้มหรือแกงต้มกะทิ ใช้เป็นผักเหนาะสด หรือต้มกะทิ กินกับน้ำพริกหรือกินกับขนมจีน



 ยอดย่านาง
       ยอดย่านาง เป็นไม้เลื้อย รูปใบคล้ายรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนมน ใบใช้ใส่แกงเผ็ด แกลงเลียง หรือขยำเอาแต่น้ำใส่ซุปหน่อไม้ ใช้หั่นฝอยใส่ในข้าวยำ





ลูกเหรียง
      ลูกเหรียง ไม้ยืนต้น ลำต้นใหญ่เหมือนต้นสะตอ มีฝักเหมือนสะตด เมื่อสุกเมล็ดจะเป็นสีดำ เปลือกนอกจะแข็ง จะต้องนำลูกไปแช่น้ำเพาะไว้จนงอกหน่อ เปลือกดำจะหลุดออก เนื้อในเป็นสีเขียว ลูกมนๆ มีหน่อติดอยู่ด้วยใช้ แกง ผัด ยำ และกินเป็นผักเหนาะ กินกับแกง ขนมจีน และน้ำพริกต่างๆ







ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น